วันเสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

วัฒนธรรมแทงโก้


 ทุกครั้งที่มีไปบัวโนสไอเรส เมืองหลวงของอาร์เจนตินา ผมจะต้องหาโอกาสไปชมการแสดงแทงโก้ ด้วยความรู้สึกชื่นชมในจังหวะลีลาศที่มีความเคลื่อนไหวซึ่งเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งชีวิต การแสดงออกถึงความเป็นปุถุชนที่โลดแล่นอยู่ในห้วงกิเลศตัณหา แต่ก็หยิ่งทะนงในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
            แทงโก้มีถิ่นกำเนิดซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงและหาข้อยุติไม่ได้ระหว่างอุรุกวัยกับอาร์เจนตินา แต่จากมอนเตวิเดโอ ซึ่งเป็นเมืองหลวงและเมืองท่าสำคัญของอุรุกวัยริมฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก ล่องเรือมาตามแม่น้ำปลาโต้เพียงไม่กี่ชั่วโมงก็จะถึงบัวโนสไอเรส ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรสำหรับการถ่ายทอดวัฒนธรรมการเต้นแทงโก้จากมอนตวิเดโอมาสู่บัวโนสไอเรส หรือจากบัวโนสไอเรสไปยังมอนเตวิเดโอ หากแต่ต้องยอมรับว่าชาวอาร์เจนตินาทั้งนักแต่งเพลง นักดนตรี นักร้อง และนักเต้น ได้มีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่แทงโก้ออกไปอย่างกว้างขวางทั้งในดินแดนแถบอเมริกาใต้และภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก รวมทั้งยกระดับของแทงโก้จากความบันเทิงของชนชั้นล่างขึ้นไปสู่การเป็นงานศิลปะของชนชั้นสูง
ว่ากันว่าแทงโก้เริ่มขึ้นในราว ทศวรรษ 1850 เป็นการผสมผสานการเต้นรำของทาสจากแอฟริกากับการลีลาศของชาวยุโรปโดยเฉพาะสเปนและอิตาลี เป็นการแสดงออกถึงอารมณ์พิศวาส ยั่วยวน เย่อหยิ่ง และดุดัน ในลีลากึ่งอุปรากรและนาฏศิลป์ จุดเด่นของแทงโก้อยู่ที่การทรงตัวอย่างแน่วนิ่งขณะที่มีการเคลื่อนไหวที่พลิ้วไหวและเร่าร้อนรุนแรง ท่ามกลางเสียงดนตรีจากแอคคอเดี้ยน เปียโน กีต้าร์ ดับเบิ้ลเบส และไวโอลิน
            เมื่อพูดถึงแทงโก้แล้ว  ก็คงจะข้ามเรื่องของคาร์ลอส การ์เดล ไปไม่ได้ การ์เดล ได้รับการยกย่องจากชาวอาร์เจนติน่าและชุมชนคนรักแทงโก้ว่าเป็น “ราชาแห่งแทงโก้” โดยเป็นนักร้องและนักแต่งเพลงที่สร้างเอกลักษณ์ให้แก่แทงโก้ในสไตล์ของอาร์เจนติน่าจนได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง นับแต่ปี 1917 เป็นต้นมา การ์เดลเดินทางไปเปิดการแสดงตามประเทศต่าง ๆ ในอมริกาใต้ จากอุรุกวัย ถึงปัวโตริโก้ และข้ามไปเปิดการแสดงในยุโรป ทั้งปารีส แมดริด บาร์เซโลนา และนิวยอร์ก ด้วยรูปร่างที่สมาร์ทและใบหน้าที่หล่อเหลาทำให้เขามีโอกาสแสดงภาพยนตร์กับบริษัทพาราเมาท์หลายเรื่อง การ์เดลเสียชีวิตในปี 1935 จากอุบัติเหตุเครื่องบินตกในโคลอมเบีย ขณะมีอายุได้ 48 ปี เหลือเพียงเรื่องราวที่เป็นประหนึ่งตำนานและบทเพลงที่ยังคงตราตรึงจิตใจของผู้ฟังทั่วโลกตราบจนปัจจุบัน
            แทงโก้ได้เป็นมรดกของชาติและซึมซาบอยู่ในสายเลือดของคนบัวโนสไอเรสและที่อื่น ๆ ในอาร์เจนตินา ไม่ว่าจะไปที่ไหน ก็จะได้ยินเสียงเพลงแทงโก้  การแต่งกายในชุดสำหรับเต้นแทงโก้ และการเต้นแทงโก้ แม้กระทั่งตามข้างถนน มีอนุสาวรย์ของคาร์ลอส การ์เดล สถานที่แสดงแทงโก้อันอลังการ รวมถึงร้านกาแฟโบราณที่เหล่านักร้องนักแต่งเพลงแทงโก้ในยุคนั้น เคยใช้เป็นที่พบปะและแต่งเพลงหรือซ้อมร้องเพลงกัน ซึ่งยังคงรักษาสภาพและบรรยากาศเอาไว้ได้อย่างดี โดยมีหุ่นของศิลปินรุ่นดังกล่าว 4- 5 คน ไว้ที่มุมหนึ่งในร้าน ซึ่งผมยังเคยคิดว่าเราน่าจะหาทางยกย่องศิลปินของเราแบบเดียวกันนี้บ้าง และสถานที่ที่เหมาะที่สุดก็คือโรงมหรสพศาลาเฉลิมกรุง โดยทำหุ่นของนักร้อง นักแต่งเพลง นักแสดง ที่เคยมีความผูกพันกับศาลาเฉลิมกรุงสักกลุ่มหนึ่งมาตั้งแสดง อาทิ หุ่น “ครูแจ๋ว” –สง่า อารัมภีร กำลังเล่นเปียโนขณะแต่งพลง “น้ำตาแสงใต้” หุ่น ม.ล.รุจิรา อิศรางกูรฯ  ยอดนักพากษ์ภาพยนต์ยุค 16 ม.ม. ที่ก้าวสู่เวทีเฉลิมกรุงครั้งแรกในฐานะของนักเต้นแท๊ป ฯลฯ เป็นต้น
            ผมรู้สึกยินดีที่ยูเนสโก ประกาศเมื่อวันที่ 30 กันยายน ที่ผ่านมา ให้การเต้นรำในจังหวะแทงโก้ เป็นหนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ และดีใจแทนชาวอาร์จนตินาที่เห็นคุณค่าและทำนุบำรุงมรดกทางวัฒนธรรมชิ้นนี้ของตนมาเป็นเวลายาวนานกว่าหนึ่งร้อยปี
            ขณะเดียวกันก็อยากเห็นคนไทยมีวัฒนธรรมอะไรสักอย่างสองอย่างที่สามารถจับ
ต้อง ใช้สอยได้ และเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน รวมทั้งเป็นสมบัติร่วมกันของคนไทยทั้งชาติ แบบเดียวกับแทงโก้ของชาวอาร์เจนตินาบ้างค่ะ








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น