วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ตุรกีเตรียมเปิด “อุโมงค์รถไฟใต้ทะเล” เชื่อมทวีปเอเชีย-ยุโรปแห่งแรกของโลก

   เอเอฟพี – ตุรกีเตรียมเปิดเส้นทางรถไฟใต้ทะเลเชื่อมทวีปเอเชียและยุโรปสายแรกของโลกในวันพรุ่งนี้(29) ซึ่งนับว่าเป็นการสานฝันของอดีตสุลต่านออตโตมันผู้ริเริ่มแนวคิดนี้ตั้งแต่ 150 ปีก่อน แต่ขณะเดียวกันก็สร้างความไม่พอใจต่อชาวตุรกีส่วนใหญ่ที่ไม่เห็นด้วยกับการนำงบประมาณมหาศาลไปละลายในโครงการเมกะโปรเจกต์เช่นนี้
       
       นายกรัฐมนตรี ตอยยิบ เออร์โดแกน แห่งตุรกี เอ่ยถึงเส้นทางรถไฟที่ลอดผ่านช่องแคบบอสพอรัสเพื่อเชื่อมนครอิสตันบูลฝั่งยุโรปและเอเชียเข้าด้วยกันว่า “บรรพบุรุษของเราริเริ่มโครงการนี้ขึ้นมา เราซึ่งเป็นลูกหลานก็มีหน้าที่ต้องสานต่อให้สำเร็จ”
       
       สุลต่าน อับดุล เมญีด แห่งราชวงศ์ออตโตมัน ทรงคิดสร้างทางสัญจรลอดช่องแคบบอสพอรัสมาตั้งแต่ปี 1860 แต่ทรงขาดแคลนทุนทรัพย์และเทคโนโลยีขั้นสูงที่จะทำให้ฝันของพระองค์เป็นจริงได้
       
       เออร์โดแกน ซึ่งเคยเป็นนายกเทศมนตรีนครอิสตันบูลมาก่อน ได้หยิบโครงการนี้มาปัดฝุ่นใหม่เมื่อปี 2004 ตามแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ ซึ่งรวมไปถึงการสร้างสนามบินแห่งที่ 3 , ขุดคลองคู่ขนาน และสะพานแห่งที่ 3 ท่ามกลางเสียงตำหนิของนักวิจารณ์ที่มองว่าโครงการเหล่าใหญ่โตฟุ่มเฟือยราวกับยุคสมัย “ฟาโรห์”
       
       แนวคิดทะเยอทะยานของ เออร์โดแกน เป็นสาเหตุสำคัญที่นำมาซึ่งการประท้วงรัฐบาลครั้งใหญ่ที่แผ่ลามไปทั่วประเทศเมื่อเดือนมิถุนายน โดยชาวบ้านต่างโอดครวญว่า แผนพัฒนาเมืองของรัฐบาลทำให้ประชาชนบางส่วนถูกเวนคืนที่ดิน และยังทำลายพื้นที่สีเขียวด้วย
       
       แม้จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันพรุ่งนี้(29) ทว่าอุโมงค์รถไฟใต้ทะเลจะยังไม่เปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบในทันที


นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ แห่งญี่ปุ่น ได้รับเชิญไปร่วมพิธีเปิดอุโมงค์รถไฟใต้ทะเลที่นครอิสตันบูล เนื่องจากธนาคารกลางญี่ปุ่นเป็นสถาบันการเงินหลักที่สนับสนุนเงินกู้ให้โครงการนี้ถึง 735 ล้านยูโร ส่วนค่าใช้จ่ายตลอดโครงการอยู่ที่ราวๆ 3,000 ล้านยูโร
       
       รัฐบาลตุรกีคาดว่าโครงการอุโมงค์รถไฟความยาว 1.4 กิโลเมตรน่าจะใช้เวลาก่อสร้างไม่เกิน 4 ปี แต่แล้วโครงการก็ต้องล่าช้า เนื่องจากมีการขุดพบโบราณวัตถุรวมกว่า 40,000 ชิ้น ที่สำคัญคือซากเรือในยุคไบแซนไทน์ประมาณ 30 ลำ ซึ่งถือเป็นกองเรือยุคกลางขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยพบมา
       
       การค้นพบที่มีมาอย่างต่อเนื่องสร้างความอึดอัดไม่น้อยต่อ เออร์โดแกน ซึ่งบ่นอุบว่าโบราณวัตถุเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อแผนปรับปรุงภูมิทัศน์นครอิสตันบูล
       
       “ตอนแรกพวกเขาก็พบโบราณวัตถุ ต่อมาก็พบหม้อดิน แล้วก็นี่ แล้วก็นั่น ของพวกนี้สำคัญกว่าชีวิตความเป็นอยู่ของคนหรืออย่างไร?” เขาตั้งคำถาม
       
       อุโมงค์รถไฟสายนี้อยู่ลึกลงไปใต้พื้นทะเลกว่า 50 เมตร และถูกออกแบบให้สามารถต้านทานแรงแผ่นดินไหวได้ด้วย

       
       การคมนาคมขนส่งนับเป็นปัญหาเรื้อรังสำหรับนครอิสตันบูล ซึ่งมีประชากรหนาแน่นถึง 15 ล้านคน ขณะที่สะพานข้ามช่องแคบบอสพอรัสมีอยู่เพียง 2 แห่ง และต้องรองรับคนเดินทางไม่น้อยกว่า 2 ล้านคนในแต่ละวัน
       
       กอดีร์ ทอปบาส นายกเทศมนตรีอิสตันบูล ชี้ว่า “การก่อสร้างอุโมงค์เชื่อมระหว่างฝั่งตะวันตกและตะวันออกของเมืองจะช่วยบรรเทาปัญหาจราจรได้มาก เพราะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 150,000 คนต่อชั่
วโมง”


 ตุรกีเตรียมเปิดตัวอุโมงค์รถไฟใต้ทะเล เชื่อมยุโรป-เอเชียแห่งแรก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น